วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

รพ.อภัยภูเบศรโชว์'ยานอน'ถอนพิษ

วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร โชว์ "ยานอน"ภูมิปัญญาชาวไทยใหญ่ นอนในเรือบ่มสมุนไพรห่อตัวด้วยใบไม้ 5 ชนิด ช่วยถอนพิษทั่วร่างกาย แก้ปวดหลังเรื้อรัง


            22ส.ค.2555 ในการแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ภายใต้แนวคิด "นวดไทย มริดกไทย สุ่มรดกโรค" ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-9 กันยายนนี้ ที่อิมแพค เมืองทองธานี มีการนำภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยที่จะมีการเผยแพร่ภายในมาจัดแสดง โดยวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ได้นำเสนอ "ยานอน"
น.ส.ชลาลัย โชคดีศรีจันทร์ อาจารย์แพทย์แผนไทยประยุกต์ วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร อธิบายว่า ยานอนจะช่วยขับพิษออกจากร่างกาย โดยชาวไทยใหญ่เชื่อว่าโรคต่างๆที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังในร่างกายว่าโรคที่เกิดจากพิษ มีทั้งพิษร้อนทำให้เกิดอาการปวดและพิษเย็นทำให้หนาว รวมถึง พิษที่เกิดบริเวณผิวหนัง ผดผื่น ภูมิแพ้ต่างๆ แมลงกัดต่อย และแพ้เหงื่อตัวเองเป็นต้น

             "ยานอนจะซึมเข้าสู่ผิวหนังไปช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนให้ดีขึ้น ซึ่งช่วยชะล้างความเป็นพิษ นอกจากนี้ ความร้อนจากสมุนไพรจะช่วยเปิดรูขุมขน ทำให้พิษถูกขับออกมาทางเหงื่อ"น.ส.ชลาลัยกล่าว
             น.ส.ชลาลัย กล่าวอีกว่า การทำยานอนในสมัยอดีตจะทำในเรือ เนื่องจากไม้ที่นำมาทำเรือส่วนใหญ่เป็นไม้ขุด จากต้นตาล ต้นตะเคียน และต้นอบเชย เมื่อลงน้ำแล้วนำมาให้คนนอจะมีสรรพคุณในการดูดพิษ แต่สมัยปัจจุบันสามารถทำยานอนบนไม้กระดานหรืออ่างจากุชชี่ได้เช่นกัน โดยขั้นตอนเริ่มจากการนำใบพืชสมุนไพร 5 ชนิดมาปูรองให้คนนอน ได้แก่ ใบกล้วยน้ำหว้า มีฤทธิ์ฝาดเย็น ช่วยดูดพิษความร้อน ,ใบว่านสาวหลง หรือใบข่า ใบไคร ใบขิง ,ใบแหยง ฤทธิ์ช่วยการไหลเวียน ,ใบพลับพลึง อมความร้อนและใบอบเชย ขยายรูขุมขน จากนั้นตำสสมุนไรพราว 37 ชนิดแล้วนำมาวางตามแนวกระดูกสันหลังและบริเวณที่มีอาการปวดเรื้อรัง เช่น วางบริเวณหน้าท้องของผู้หญิงที่ปวดท้องเมื่อมีประจำเดือนเป็นประจำ ในแต่ละครั้งจะใช้เวลา ครึ่งชั่วโมง- 1 ชั่วโมง

จาก  หนังสือพิมพ์  คมชัดลึก วันที่ 28-08-2555

ชาลดอยากอาหาร ทีเด็ดสมุนไพรไทย

ทึ่ง! สมุนไพรไทยปรุง "ชาไม่อยากข้าว" แก้โรคอ้วนปัญหาใหญ่ของประเทศ เผยได้สูตรลับมาจากหมอยาแห่งปราจีนบุรี มีส่วนประกอบคือหญ้าดอกขาว ที่สหรัฐจดสิทธิบัตรใช้ลดความอยากอาหาร กับหอมแขก ซึ่งญี่ปุ่นนำไปจดสิทธิบัตรเป็นตัวกรองบุหรี่ ชวนเที่ยวงานสมุนไพรไทยครั้งที่ 9 สาธิตการนวดแก้นิ้วล็อก
    ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 9 นวดไทย มรดกไทย สู่มรดกโลก ทางโรงพยาบาลจะนำสูตร “ชาไม่อยากข้าว” มาเผยแพร่ให้กับประชาชนรู้จัก เนื่องจากโรคอ้วนนับเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ และเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังหลายชนิดตามมา อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน เป็นต้น สาเหตุสำคัญของโรคอ้วนก็คือ การบริโภคอาหารมากเกินไปนั่นเอง
    สูตรชาไม่อยากข้าว ดร.สุภาภรณ์กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้รับความรู้มาจากหมอส่วน สีมะพริก หมอยาจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งในตำรับชาประกอบด้วยสมุนไพร 2 ชนิด คือ หญ้าดอกขาว หรือหญ้าหมอน้อย และหอมแขก จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าในประเทศสหรัฐอเมริกามีการจดสิทธิบัตรสารสกัดจากหญ้าดอกขาวในการใช้เพื่อลดความอยากอาหาร โดยทำในรูปของยาพ่นเข้าทางจมูก ทางโรงพยาบาลก็จะเผยแพร่ทั้งในรูปชาชงและยาอบ เพราะในภูมิปัญญาดั้งเดิมมีการใช้ในรูปชาชง ส่วนการใช้ยาอบนั้นเป็นการสูดเอาไอเข้าทางจมูก ซึ่งให้ผลเหมือนกับยาพ่น
    ในส่วนของสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบคือ หอมแขก มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Curry leaf ที่ปัจจุบันมีงานวิจัยในต่างประเทศมากมายถึงประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยย่อย จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับหมอยาพื้นบ้านในส่วนต่างๆ ของประเทศไทย มีการใช้หญ้าดอกขาวอดเหล้า อดบุหรี่ จนกระทั่งบริษัทในญี่ปุ่นจดสิทธิบัตรในการเป็นตัวกรองบุหรี่เพื่อลดการติดบุหรี่ ทั้งๆ ที่เป็นภูมิปัญญาของคนไทย
    ดร.สุภาภรณ์กล่าวว่า นอกจากช่วยอดเหล้า อดบุหรี่แล้ว ยังมีการใช้สมุนไพรดังกล่าวลดการอักเสบในโรคหลอดลม ปวดเมื่อย เบาหวาน จากประสบการณ์การใช้หญ้าดอกขาวอย่างยาวนาน หมอพื้นบ้านทุกคนต่างพูดตรงกันว่า กินยาหญ้าดอกขาวแล้วจะไม่อยากข้าว จึงไม่แปลกใจเลยว่ามีการนำความรู้นี้ไปจดสิทธิบัตร แต่รู้สึกสงสารประเทศไทยมากกว่า ทั้งๆ ที่ในอดีตเรามียาดีๆ อยู่เยอะ แต่ความรู้ด้านการใช้สมุนไพรไม่แพร่หลายมากนักในหมู่คนไทย แต่กลับตกไปอยู่ในมือต่างชาติ
    สำหรับผู้ที่สนใจอยากทดลองใช้ยาชง ยาอบไม่อยากข้าว ขอเชิญได้ที่งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 9 นวดไทย มรดกไทย สู่มรดกโลก วันที่ 5-9 กันยายน 2555 ที่อาคาร 7-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
    ทั้งนี้ การจัดงานสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 9 นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า ปีนี้จะรวมหมอพื้นบ้าน 18 องค์กร 100 เครือข่ายทั่วประเทศ มาร่วมแสดงองค์ความรู้ภูมิปัญหาหมอพื้นบ้านที่สั่งสมมาตั้งแต่โบราณ ดังมีจารึกในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ถึงการรักษาด้วยยาสมุนไพรและการนวดแบบไทย และรัฐบาลมีนโยบายที่จะผลักดันการใช้แพทย์แผนไทยมาใช้รักษาอาการปวดเมื่อย ลดการอักเสบ แทนยาปัจจุบันทุกชนิดที่ส่วนใหญ่เป็นยาจากต่างประเทศ ซึ่งไทยใช้แต่ละปีมีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท
    ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 9 นี้ จะมีการสาธิตการรักษาด้วยแพทย์แผนไทย เช่น การนวดรักษาโรคนิ้วล็อก ที่ปัจจุบันต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น แต่เรามีผลงานวิจัยยืนยันชัดเจนว่า การนวดแผนไทยช่วยรักษาโรคดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดอบรมหลักสูตรแพทย์แผนไทยระยะสั้นประมาณ 40 หลักสูตรให้กับผู้สนใจเข้าร่วมงานด้วย
    นพ.สุพรรณกล่าวว่า จะมีประชุมเครือข่ายประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา จีน ลาว พม่า และเวียดนาม มาประชุมร่วมกันเป็นครั้งที่ 5 เพื่อยกระดับเครือข่ายหมอพื้นบ้านลุ่มน้ำโขง พร้อมจัดทำกรอบความร่วมมือและแผนการอนุรักษ์การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขงร่วมกัน รับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558.


จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  28/8/2555

วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555

งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 9 " การนวดไทย มรดกไทย สู่มรดกโลก " วันที่ 5-9 กันยายน 2555

สมุนไพรจีนช่วยผู้หญิงเผชิญหน้ามะเร็งอย่างกล้าหาญ

อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งของผู้หญิงทั่วโลกเป็นสถิติที่น่าตกใจ จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริการายงานไว้ว่า มะเร็งเต้านมมีอุบัติการณ์ 124.3 คนต่อผู้หญิง 100,000 คน  มะเร็งมดลูกและปากมดลูก 8.1 คนต่อผู้หญิง 100,000 คน มะเร็งรังไข่ 12.7 คนต่อผู้หญิง 100,000 คน เป็นต้น และสถิติเหล่านี้มีแต่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น
   
ปัญหาระบบการรักษามะเร็งของผู้หญิงพื้นฐานส่วนใหญ่ หลังรักษาแล้วยังไม่มีวิธีควบคุมอย่างได้ผล มะเร็งมักจะกลับมาอีกเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง การตรวจวินิจฉัยมะเร็งบางชนิดช้าทำให้ตรวจเจอเมื่อมะเร็งแพร่กระจายแล้ว ทำให้อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยลดลง นอกจากนี้ การรักษาเช่นการผ่าตัดอวัยวะ อาทิ ตัดเต้านมออก ตัดมดลูกหรือรังไข่ออกหมด ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างมากหลังรักษา แพทย์แผนหลักต้องเผชิญกับปัญหาที่ว่า จะเพิ่มการตอบสนองของการรักษาแผนหลักได้อย่างไร ลดการดื้อยาได้อย่างไร ลดผลข้างเคียงของการรักษาได้หรือไม่ จะปรับสมดุลภูมิคุ้มกันแก้ปัญหาความแข็งแรงของร่างกายได้หรือไม่

การแพทย์ทางเลือกรักษามะเร็งแบบแพทย์แผนจีนที่ใช้สมุนไพร และการรับประทานอาหารร่วมด้วย เชื่อว่ามะเร็งในผู้หญิงเกิดจาก ชี่พร่อง เลือดไหลเวียนติดขัด ความไม่ราบรื่นเหล่านี้ส่งผลให้อวัยวะภายในบกพร่องต่อหน้าที่ เกิดของเสียและพิษสะสมภายในร่างกาย สร้างความไม่สมดุลแก่หยิน-หยาง อีกทั้งชี่ คือ แรงผลักดันของเลือด เลือดคือวัตถุดิบพื้นฐานของประจำเดือนในผู้หญิง หากการทำงานของอวัยวะบกพร่อง การไหลเวียนของชี่และเลือดย่อมได้รับผลกระทบ เมื่อสะสมความผิดปกติเป็นเวลานาน จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งในผู้หญิงได้

การต่อสู้มะเร็งในทางแพทย์จีน จึงเริ่มจากดูแลองค์รวมทั้งร่างกาย ล้างพิษตับปรับปรุงชี่ ซึ่งส่งผลดีต่อการไหลเวียนของเลือด การสลายเลือดคั่ง การขับร้อนขับพิษ เมื่อทั้งหมดได้รับการปรับก็ทำให้ ชี่ เลือด ได้รับการกระตุ้น อวัยวะภายในได้ทำงาน วิธีการ คือ ใช้ยาจีนเข้ามาช่วย พร้อมไปกับใช้หลักการรับประทานอาหารให้เป็นยาตามสภาพร่างกาย การดูแลทางด้านอารมณ์ จิตวิญญาณ จุดประสงค์เพื่อทำให้ชี่และเลือดไหลเวียนดีราบรื่น เพิ่มพลังที่ดีแก่ร่างกาย ส่งผลให้หยิน-หยางสมดุล
วันเสาร์ที่ 1 กันยายน 2555 ที่จะถึงนี้ ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง จึงได้จัดบรรยายเรื่อง “ใส่ใจดูแลมะเร็งในผู้หญิงสไตล์แพทย์จีน” เผยเคล็ด (ไม่) ลับทุกเรื่องที่ผู้หญิงต้องรู้เพื่อการรักษามะเร็ง โดยวิทยากร แพทย์จีน มาลิน ปิยะชินวรรณ จากสมาคมศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย งานเริ่มตั้งแต่ 13.00-16.00 น. ที่ห้องประชุม 2-3 อาคารเฉลิมพระบารมี ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ (ซอยเพชรบุรีตัดใหม่ 47) กรุงเทพฯ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สามารถสำรองที่นั่งเข้าฟังบรรยายได้ที่ 0-2664-0079 หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.siamca.com.

เครดิต    หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  19/8/2555

จากยุ่นสู่ไทย ลับคมฝังเข็มคนตาบอด- เพื่อสุขภาวะเพื่อสังคมไทย

“อาชีพนวด” นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีผู้พิการทางสายตาจำนวนมากนำไปประกอบสัมมาหาเลี้ยงตน กรมพัฒนาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.และเครือข่ายสถาบันการอบรมหลักสูตรวิชาชีพการนวดไทยของผู้พิการทางสายตา 6 สถาบัน ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ The Nippon Foundation The National Committee of Welfare for the Blind in Japan เพื่อพัฒนาศักยภาพของครูผู้รับมอบตัวศิษย์ ครูหมอนวดไทยและวิทยากรให้มีความรู้และทักษะในการสอนนวดไทยสำหรับผู้พิการทางสายตาขึ้น
 
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เป็นที่น่าภูมิใจว่าปี 2555 มีผู้พิการทางสายตาเข้ารับการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทการนวดไทย จำนวน 69 คน และสามารถสอบผ่านภาคทฤษฎีได้ จำนวน 32 คน คิดเป็นร้อยละ 46.3% ของผู้พิการทางสายตาที่เข้าสอบ ซึ่งเปรียบเทียบกับคนสายตาปกติ สามารถสอบผ่านภาคทฤษฎีได้เพียง 30.15%
 
นอกจากนี้ในการอบรมยังได้รับเกียรติจากคณะวิทยากรจากญี่ปุ่น จากมหาวิทยาลัยสึคุบะ เป็นผู้พัฒนาทักษะการสอนกายวิภาคศาสตร์และสรีระวิทยาสำหรับคนตาบอด เพราะญี่ปุ่นนับได้ว่าใช้ศาสตร์ด้านการนวดและการฝังเข็มเป็นที่ขึ้นชื่อไปทั่วโลก
 
มิสเตอร์โยชิฮิโกะ ซาซากาวา ประธานคณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพผู้พิการทางสายตาในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่คร่ำหวอดและมีประสบการณ์การนวดมายาวนาน ได้เล่าให้ฟังว่า ในญี่ปุ่นการสอนนวดจะสอนพร้อมกับการฝังเข็มและการรมควัน โดยคุณวาอิชิ สุกิยามา ซึ่งเป็นหมอฝังเข็มตาบอดที่มีชื่อเสียงได้คิดค้นวิธีการฝังเข็มแบบใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งคลินิกสำหรับการอบรมวิชาชีพสำหรับคนตาบอดโดยได้รับการอนุญาตจากรัฐบาล และรัฐเองก็ให้การนวดและการฝังเข็มเป็นวิชาชีพที่สงวนไว้สำหรับผู้พิการทางสายตา
 
ที่ญี่ปุ่นการ นวดฝังเข็มได้รับการนิยมมากในโรงเรียนสอนคนตาบอด โดยมิสเตอร์โยชิฮิโกะ ปัจจุบันโรงเรียนสอนคนตาบอดมีประมาณ 70 กว่าแห่ง โดย 60 แห่งมีการสอนฝังเข็มสำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งผู้เรียนก็เรียนคล้ายกับเมืองไทยที่เรียนชั้นประถม 6 ปี มัธยมต้น 3 ปี และมัธยมปลาย 3 ปี หลังจบ ม.ปลายก็จะสอนเรื่องการฝังเข็มเป็นเวลา 3 ปี มีการสอบข้อเขียนและสอบปฏิบัติ โดยผู้ผ่านการสอบแล้วจะได้รับวุฒิบัติเพื่อการรักษาและทำการนวด หลังจากสอบผ่านแล้วก็สามารถเข้าทำงานกับโรงพยาบาล หรือคลินิกในการนวดเพื่อรักษาได้ รวมทั้งบ้านพักคนชรา ตลอดจนสามารถเปิดกิจการเป็นของตนเองด้วยก็ได้
 
“ผู้ที่มานวดฝังเข็มกับผมส่วนใหญ่กว่าครึ่งมาเพื่อรักษาอัมพาตครึ่งตัว เพราะการฝังเข็มเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตให้มีอาการดีขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการอัมพาต การฝึกกายภาพและการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งต้องพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยรู้สึกที่อยากจะเคลื่อนไหวเพื่อให้ข้อต่อทำงานดีขึ้น” มิสเตอร์โยชิฮิโกะ กล่าว
   
มิสเตอร์โยชิฮิโกะ บอกว่า การฝังเข็มและการนวดกดจุดนั้น จะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ การกดจุดจะใช้ นิ้วโป้งเป็นหลักใหญ่ในการกด ส่วนการฝังเข็มนั้นจะใช้เข็มในการรักษา และความพิเศษเข็มของญี่ปุ่นคือมีขนาดที่เล็กมาก เวลาที่ฝังเข็มแล้วแทบจะไม่รู้สึกว่าถูกฝังเลย ส่วนเข็มของจีนจะมีขนาดใหญ่ เมื่อฝังแล้วจะมีความรู้สึกทันที การฝังเข็มของญี่ปุ่นนั้นสบายมากจนหลับไปเลยก็มี นอกจากนั้นการกดจุดต้องใช้แรงในการกด ซึ่งการฝังเข็มและการกดจุดนั้นจะผสมกันไม่ได้ ต้องเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาอาการ
      
ส่วนข้อสงสัยที่ว่าผู้พิการทางสายตาจะใช้หลักอย่างไรในการฝังเข็ม เพราะถือเป็นวิธีการที่ยากมากนั้น มิสเตอร์โยชิฮิโกะเล่าว่า การฝังเข็มของญี่ปุ่นจะมีท่อพิเศษเป็นตัวนำ เมื่อต้องการฝังในจุดใดก็จะมีท่อพิเศษนี้ค่อย ๆ ขยับไปตามกล้ามเนื้อที่ผู้รักษาได้ศึกษาไว้ อย่างไรก็ตามในส่วนประเทศไทย การรักษาโดยฝังเข็มโดยเฉพาะผู้พิการทางสายตานับเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติมอีกมาก โดยมิสเตอร์โยชิฮิโกะบอกว่า เชื่อว่าเมืองไทยก็จะทำได้เช่นเดียวกับญี่ปุ่น
 
จุดเริ่มในการอบรมครั้งนี้ จึงนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่ไทยจะพัฒนาผู้พิการทางสายตาให้เป็นผู้รักษาโดยวิธีการฝังเข็มได้เช่นเดียวกับญี่ปุ่นให้สมกับที่ไทยเป็นหนึ่งในสี่ของประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายรองรับให้ผู้พิการทางสายตาสามารถสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการโรคศิลปะได้.

เครดิตข่าว    จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 19 สิงหาคม 2555

วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เล็งพัฒนา รพ.-คลินิกให้เป็น One Stop service สำหรับต่างชาติ

 สธ.จัดยุทธศาสตร์ 5 ปี พัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ พ.ศ.2555-2559 begin_of_the_skype_highlighting            2555-2559      end_of_the_skype_highlighting บริการ 4 สาขาหลัก ทั้งรักษาพยาบาล สปา แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก และผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย เดินเครื่องพัฒนาโรงพยาบาล คลินิกทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ บริการครบสูตร ทั้งล่าม บริการต่อวีซ่า เผย ขณะนี้มีแล้ว 21 แห่ง จะอบรมเพิ่มในเดือนนี้อีก ขณะเดียวกัน ได้ขยายเวลาพำนักรักษาตัวให้ผู้ป่วยจาก 5 ประเทศกลุ่มอาหรับ พักในไทยได้ 90 วัน และต่ออายุได้ไม่เกิน 1 ปี
     
       นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชียและนานาชาติ หรือ เมดิคัล ฮับ (Medical Hub) เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ แนวคิดหลักของนโยบายนี้ คือ เน้นในการพัฒนาและส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพแบบนานาชาติ (Medical Hub and Wellness) พัฒนาระบบโลจิสติกส์ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานระดับสากล และส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และการตลาด ดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาที่ได้เริ่มช่วงแรกมาตั้งแต่ พ.ศ.2547 เป็นต้นมา ที่มี 3 บริการหลัก คือ 1.รักษาพยาบาล 2.การส่งเสริมสุขภาพ และ 3.ผลิตภัณฑ์สุขภาพและสมุนไพรไทย ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย สร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจสุขภาพ และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ล่าสุด ในปี 2554 มีรายได้ประมาณ 97,874 ล้านบาท มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และรับบริการด้านสุขภาพเป็นจำนวนมากถึง 2.2 ล้านคน
 นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาช่วงที่ 2 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพของนานาชาติในปี 2555-2559 begin_of_the_skype_highlighting            2555-2559      end_of_the_skype_highlighting โดยให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อเป็นกรอบในการกำหนดรูปแบบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์บริการสุขภาพทั่วประเทศ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอีกด้านหนึ่งด้วย โดยมีเป้าหมายหลัก 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การรักษาพยาบาล เช่น ทันตกรรม การรักษาโรคเฉพาะทาง การพำนักระยะยาว 2.การส่งเสริมสุขภาพ เช่น สปา นวดเพื่อสุขภาพ 3.ผลิตภัณฑ์สุขภาพและสมุนไพรไทยให้ได้มาตรฐาน จีเอซีพี (GACP) ขององค์การอนามัยโลก และ 4.การเพิ่มผลผลิตด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ส่งเสริมให้จัดตั้งโรงพยาบาลแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์ทางเลือกทุกภูมิภาค ให้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนเปิดคลินิกแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาล ทั้งหมดนี้จะไม่ให้เกิดผลกระทบกับการบริการสุขภาพโดยรวมของคนไทย

       ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ขยายเวลาพำนักของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย จากเดิม 30 วัน เป็น 90 วัน โดยไม่ต้องทำวีซ่า และสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้หลายครั้ง รวมกันแล้วไม่เกิน 1 ปี ในขั้นต้นอนุโลมให้ 5 ประเทศในกลุ่มอาหรับ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ รัฐกาตาร์ รัฐคูเวต รัฐสุลต่านโอมาน และรัฐบาห์เรน ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป
     
       ขณะเดียวกัน จะพัฒนาโรงพยาบาลและคลินิกของไทยให้ได้มาตรฐาน ระดับนานาชาติ หรือมาตรฐาน เจซีไอเอ (JCIA: Joint Commission International on Accrediation) ซึ่งจะเป็นศูนย์บริการเฉพาะชาวต่างชาติที่เดียวเบ็ดเสร็จครบวงจร (One Stop service Center) มีล่าม มีหอผู้ป่วย บริการต่ออายุวีซ่า หรือบริการตามหลักศาสนาทั้งอาหารและบุคลากร
     
       ปัจจุบันมีโรงพยาบาลและคลินิกของไทย ได้รับการรับรองมาตรฐาน จำนวน 21 แห่ง ซึ่งจะมีการจัดอบรมเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ โดยเน้นการดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก รวมทั้งตรวจรับรองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทุกประเภทให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อก้าวสู่การรับรองคุณภาพในระดับสากล เตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนด้านสุขภาพของประชาคมอาเซียนในอนาคต ซึ่งจะทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในเวทีโลกด้านบริการสุขภาพอย่างแท้จริง
     
       นายวิทยา กล่าวด้วยว่า แผนพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของนานาชาติในปี 2555-2559 ใช้งบประมาณในการดำเนินงานประมาณ 3,131 ล้านบาท และคาดว่า จะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศรวม 5 ปี ประมาณ 814,266 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี โดยด้านการรักษาพยาบาล คาดว่า จะสร้างรายได้ 672,236 ล้านบาท ด้านการส่งเสริมสุขภาพ 85,669 ล้านบาท ด้านแพทย์แผนไทยฯ 3,868 ล้านบาท ด้านสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สุขภาพ 52,493 ล้านบาท

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์3 สิงหาคม 2555 14:15 น.

รายชื่อสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการวิชาชีพสาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์

http://mrd.hss.moph.go.th/uploadFiles/news/N000000002361556.pdf