วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

พบสารต้านมะเร็งจากพืชสมุนไพร

วท. จับมือ ม.ขอนแก่น ใช้แสงซินโครตรอนตรวจพืชสมุนไพร พบกิ่งสนสามใบ และติ้วขน มีสารต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)  พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และ ทีมงานวิจัยได้ ร่วมกันบรรยายผลงานวิจัย “ซินโครตรอนกับการศึกษาสารต้านมะเร็งจากพืชสมุนไพร”  เพื่อพัฒนายาต้านมะเร็งโดยไม่ส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายของผู้ป่วย
ดร.ปลอดประสพ กล่าวว่า งานวิจัยนี้เป็นโครงการบูรณาการเพื่อสนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น  รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวจากสารสกัดพืชสมุนไพรไทย โดยต่อยอดมาจากงานวิจัยผลสำรวจพืชพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน ซึ่งมาจากกลุ่มผู้ใช้บริการแสงซินโครตรอนในปี 2554 และ เป็นการศึกษามะเร็งอย่างต่อเนื่อง
ภญ.รศ.ดร.นาถธิดา วีระปรียากูร อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวในเรื่องของการนำสารสกัดจากพืชสมุนไพร ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง จากการศึกษาพืชสมุนไพรหลายชนิด พบว่า สารสกัดจากกิ่งของพืช 2 ชนิด คือ ติ้วขน และ สนสามใบ มีสารออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยมีศักยภาพทำให้เซลล์มะเร็งค่อยๆ สลายตัวจากการทำลายตัวเอง และ มีเพียงเซลล์มะเร็งเท่านั้นที่ตาย ผู้ป่วยจะไม่ได้รับผลเคียงข้างจากการใช้ยานี้
“แม้ในปัจจุบัน การรักษาด้วยการใช้เคมีบำบัดจะมีประสิทธิภาพสูง แต่ยังพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยเฉพาะเมื่อเซลล์มะเร็งดื้อยา ทำให้การรักษาด้วยเคมีบำบัดไม่ประสบความสำเร็จ หากการพัฒนาเพื่อใช้สารจากกิ่งของติ้วขน และ สนสามใบ ใช้ประกอบกับยาเคมีบำบัดจะช่วยในการต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ภญ.รศ.ดร.นาถธิดา กล่าว
ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า การตรวจหากลไกของการออกฤทธิ์ในพืชสมุนไพรทั้ง 2 ชนิด ใช้เทคนิคจุลทรรศน์อินฟราเรด (FTIR microspectroscopy) จากผลการทดลองพบว่า สารสกัดสมุนไพรทั้ง 2 ชนิดนี้ ทำให้เซลล์มะเร็งตายโดยการชักนำให้มีการสร้างโปรตีนชนิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการทำลายตัวเอง นอกจากนั้นปริมาณของ ไขมัน โปรตีน และกรดนิวคลีอิกจะ มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่แตกต่างจากกลไกการออกฤทธิ์ของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีต่อการใช้ยาเคมีมาตรฐานชนิดเมลฟาแลน
งานวิจัยครั้งนี้ได้นำเทคนิคการวิเคราะห์แบบใหม่มาใช้ศึกษาสิ่งมีชีวิต โดยการใช้เทคนิคจุลทรรศน์ อินฟราเรด สามารถใช้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงสารชีวโมเลกุลระดับเซลล์ อีกทั้งไม่ต้องใช้สารเคมีในขั้นตอนการเตรียมตัว และยังใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์สั้น ซึ่งแตกต่างกับการวิเคราะห์ทางชีวเคมีทั่วไป  ทำให้นักวิจัยได้ข้อมูลทางวิชาการในรูปแบบใหม่ และมีผลในการวิเคราะห์ที่รวดเร็ว แม่นยำมากขึ้น
การนำแสงซินโครตรอนศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของพืชสมุนไพรในเชิงลึก จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเริ่มต้นพัฒนาสารออกฤทธิ์ต้านมะเร็งจากพืชสมุนไพร ทั้งนี้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ปลอดจากภัยของโรคมะเร็ง

เครคิตข่าวจาก http://www.posttoday.com/
20 กรกฎาคม 2555 เวลา 15:12 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น