วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555

จากยุ่นสู่ไทย ลับคมฝังเข็มคนตาบอด- เพื่อสุขภาวะเพื่อสังคมไทย

“อาชีพนวด” นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีผู้พิการทางสายตาจำนวนมากนำไปประกอบสัมมาหาเลี้ยงตน กรมพัฒนาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.และเครือข่ายสถาบันการอบรมหลักสูตรวิชาชีพการนวดไทยของผู้พิการทางสายตา 6 สถาบัน ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ The Nippon Foundation The National Committee of Welfare for the Blind in Japan เพื่อพัฒนาศักยภาพของครูผู้รับมอบตัวศิษย์ ครูหมอนวดไทยและวิทยากรให้มีความรู้และทักษะในการสอนนวดไทยสำหรับผู้พิการทางสายตาขึ้น
 
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เป็นที่น่าภูมิใจว่าปี 2555 มีผู้พิการทางสายตาเข้ารับการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทการนวดไทย จำนวน 69 คน และสามารถสอบผ่านภาคทฤษฎีได้ จำนวน 32 คน คิดเป็นร้อยละ 46.3% ของผู้พิการทางสายตาที่เข้าสอบ ซึ่งเปรียบเทียบกับคนสายตาปกติ สามารถสอบผ่านภาคทฤษฎีได้เพียง 30.15%
 
นอกจากนี้ในการอบรมยังได้รับเกียรติจากคณะวิทยากรจากญี่ปุ่น จากมหาวิทยาลัยสึคุบะ เป็นผู้พัฒนาทักษะการสอนกายวิภาคศาสตร์และสรีระวิทยาสำหรับคนตาบอด เพราะญี่ปุ่นนับได้ว่าใช้ศาสตร์ด้านการนวดและการฝังเข็มเป็นที่ขึ้นชื่อไปทั่วโลก
 
มิสเตอร์โยชิฮิโกะ ซาซากาวา ประธานคณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพผู้พิการทางสายตาในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่คร่ำหวอดและมีประสบการณ์การนวดมายาวนาน ได้เล่าให้ฟังว่า ในญี่ปุ่นการสอนนวดจะสอนพร้อมกับการฝังเข็มและการรมควัน โดยคุณวาอิชิ สุกิยามา ซึ่งเป็นหมอฝังเข็มตาบอดที่มีชื่อเสียงได้คิดค้นวิธีการฝังเข็มแบบใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งคลินิกสำหรับการอบรมวิชาชีพสำหรับคนตาบอดโดยได้รับการอนุญาตจากรัฐบาล และรัฐเองก็ให้การนวดและการฝังเข็มเป็นวิชาชีพที่สงวนไว้สำหรับผู้พิการทางสายตา
 
ที่ญี่ปุ่นการ นวดฝังเข็มได้รับการนิยมมากในโรงเรียนสอนคนตาบอด โดยมิสเตอร์โยชิฮิโกะ ปัจจุบันโรงเรียนสอนคนตาบอดมีประมาณ 70 กว่าแห่ง โดย 60 แห่งมีการสอนฝังเข็มสำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งผู้เรียนก็เรียนคล้ายกับเมืองไทยที่เรียนชั้นประถม 6 ปี มัธยมต้น 3 ปี และมัธยมปลาย 3 ปี หลังจบ ม.ปลายก็จะสอนเรื่องการฝังเข็มเป็นเวลา 3 ปี มีการสอบข้อเขียนและสอบปฏิบัติ โดยผู้ผ่านการสอบแล้วจะได้รับวุฒิบัติเพื่อการรักษาและทำการนวด หลังจากสอบผ่านแล้วก็สามารถเข้าทำงานกับโรงพยาบาล หรือคลินิกในการนวดเพื่อรักษาได้ รวมทั้งบ้านพักคนชรา ตลอดจนสามารถเปิดกิจการเป็นของตนเองด้วยก็ได้
 
“ผู้ที่มานวดฝังเข็มกับผมส่วนใหญ่กว่าครึ่งมาเพื่อรักษาอัมพาตครึ่งตัว เพราะการฝังเข็มเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตให้มีอาการดีขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการอัมพาต การฝึกกายภาพและการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งต้องพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยรู้สึกที่อยากจะเคลื่อนไหวเพื่อให้ข้อต่อทำงานดีขึ้น” มิสเตอร์โยชิฮิโกะ กล่าว
   
มิสเตอร์โยชิฮิโกะ บอกว่า การฝังเข็มและการนวดกดจุดนั้น จะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ การกดจุดจะใช้ นิ้วโป้งเป็นหลักใหญ่ในการกด ส่วนการฝังเข็มนั้นจะใช้เข็มในการรักษา และความพิเศษเข็มของญี่ปุ่นคือมีขนาดที่เล็กมาก เวลาที่ฝังเข็มแล้วแทบจะไม่รู้สึกว่าถูกฝังเลย ส่วนเข็มของจีนจะมีขนาดใหญ่ เมื่อฝังแล้วจะมีความรู้สึกทันที การฝังเข็มของญี่ปุ่นนั้นสบายมากจนหลับไปเลยก็มี นอกจากนั้นการกดจุดต้องใช้แรงในการกด ซึ่งการฝังเข็มและการกดจุดนั้นจะผสมกันไม่ได้ ต้องเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาอาการ
      
ส่วนข้อสงสัยที่ว่าผู้พิการทางสายตาจะใช้หลักอย่างไรในการฝังเข็ม เพราะถือเป็นวิธีการที่ยากมากนั้น มิสเตอร์โยชิฮิโกะเล่าว่า การฝังเข็มของญี่ปุ่นจะมีท่อพิเศษเป็นตัวนำ เมื่อต้องการฝังในจุดใดก็จะมีท่อพิเศษนี้ค่อย ๆ ขยับไปตามกล้ามเนื้อที่ผู้รักษาได้ศึกษาไว้ อย่างไรก็ตามในส่วนประเทศไทย การรักษาโดยฝังเข็มโดยเฉพาะผู้พิการทางสายตานับเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติมอีกมาก โดยมิสเตอร์โยชิฮิโกะบอกว่า เชื่อว่าเมืองไทยก็จะทำได้เช่นเดียวกับญี่ปุ่น
 
จุดเริ่มในการอบรมครั้งนี้ จึงนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่ไทยจะพัฒนาผู้พิการทางสายตาให้เป็นผู้รักษาโดยวิธีการฝังเข็มได้เช่นเดียวกับญี่ปุ่นให้สมกับที่ไทยเป็นหนึ่งในสี่ของประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายรองรับให้ผู้พิการทางสายตาสามารถสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการโรคศิลปะได้.

เครดิตข่าว    จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 19 สิงหาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น